โปรดเข้าใจ: อัลกุรอานและฮะดีษ ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจเองได้!

สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นที่ไม่เข้าใจและยังคงต้องใช้เวลาในการปลูกฝังและพร่ำสอนสังคมมุสลิมในการอ้างอิงหลักฐานไม่ว่าจะหลักฐานจากอัลกุรอาน หรืออัลฮะดีษ คือ กฎอันสำคัญสำหรับโลกวิชาการอิสลามนั้นคือ

ความจำเป็นที่จะต้องใช้คำอธิบายของนักวิชาการอิสลามที่ได้รับการยอมรับ (จากยุคสะลัฟ และบรรดาผู้เจริญรอยตามเขา) ในการอธิบายตัวบทหลักฐาน, หรือเหตุการณ์สำคัญทางศาสนา

เพราะในปัจจุบัน เราต่างพบเห็นมุสลิมที่ใฝ่หาการตีความใหม่ของศาสนาจำนวนไม่น้อยที่มักจะหยิบยกตัวบทอัลกุรอานหรือตัวบทจากอัลฮะดีษมาอธิบายด้วยความเข้าใจของตัวเอง หรือด้วยความคาดว่าน่าจะเป็นเพื่อสนองต่ออารมณ์ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งสร้างความชอบธรรมต่ออุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองในการอ้างว่าสิ่งที่ตนยึดนั้นไม่ขัดกับหลักการศาสนา

ปัญหาต่าง ๆ นี้เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากการที่มุสลิมไม่ซื่อสัตย์กับศาสนาในการปฏิบัติตามกฎวิชาการอิสลามที่สำคัญข้อนี้ (การอ้างอิงความเข้าใจในตัวบทไปยังความเข้าใจของนักวิชาการอิสลามที่ได้รับการยอมรับในยุคสะลัฟ) เพราะหากปราศจากความเข้าใจของชนยุคสะลัฟแล้ว การเข้าใจในตัวบทศาสนาก็จะคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจของบรรดาสาวกของท่านนะบีได้นั่นเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมมุสลิมทั่วโลกไม่ว่าจะหย่อมหญ้าไหน ๆ ต่างยอมรับในอัลกุรอานและอัลฮะดีษ ว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นธรรมนูญหลักและเป็นข้อชี้ขาดหลักของผู้ที่เป็นมุสลิม แต่จะมีซักกี่คนที่เข้าใจต่อไปว่าธรรมนูญทั้งสองนี้สำหรับเอาวามชนนั้น ไม่สามารถที่จะเปิดเล่มอัลกุรอานหรืออัลฮะดีษและทำความเข้าใจเองได้หรือแม้กระทั่งจะสังเคราะห์ข้อตัดสินชี้ขาดจากตัวบทหนึ่ง ๆ ออกมาด้วยตนเองก็ยิ่งห่างไกล

ฉะนั้นนักวิชาการศาสนาจึงได้วางศาสตร์ต่าง ๆ หรือเครื่องมือในการเข้าใจตัวบทหลักฐาน หรือในภาษาอาหรับเรียกว่า อิลมุลอาละฮฺ ศาสตร์ว่าด้วยเครื่องมือในการเข้าใจตัวบทหลักฐานทางศาสนา อาทิเช่น

  • อุซูลุลฟิกฮฺ (ศาสตร์ว่าด้วยการสังเคราะห์ข้อชี้ขาดทางศาสนา)
  • อุซูลุตตัฟซีร (ศาสตร์ว่าด้วยการเข้าใจอัลกุรอาน)
  • มุศเฏาะละฮุลฮะดีษ (ศาสตร์ว่าด้วยการเข้าใจฮะดีษ)
  • นะฮู วัซซอรฟ (ไวยกรณ์อาหรับ)
  • อัลบะลาเฆาะฮฺ (โวหารอาหรับ)

ในแต่ละวิชาก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามที่บรรดานักวิชาการได้วางรูปแบบกันเอาไว้ และแน่นอนว่าก่อนที่จะกระโดดเข้าไปยังศาสตร์พวกนี้ได้ผู้เรียนจะต้องมีความเข้าใจในภาษาอาหรับอย่างดีเป็นอันดับแรกเพื่อที่จะได้รับความรู้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

โดยเป้าหมายของการศึกษาวิชาเหล่านี้ก็เพื่อสร้างพื้นฐาน, แนวทาง, ลำดับความสำคัญและวิธีในการถอดข้อชี้ขาดต่าง ๆ ในอิสลามออกมาจากหลักฐานต่าง ๆ ในศาสนา

ซึ่งในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนต้องการที่จะหยิบยกหนึ่งในกฎของศาสตร์ “อุซูลุลฟิกฮฺ” มานำเสนอแก่ผู้อ่าน และผู้ใฝ่รู้เพื่อที่จะได้รับความเข้าใจที่ถูกต้อง กฎที่ว่านี้ก็คือ

العبرة بعموم اللفظ لا بخصوص السبب

ประเด็นที่จะพิจารณาข้อชี้ขาดคือให้ยึดเอาตามความหมายของรูปคำ ไม่ใช่ยึดเอาแค่ตามสาเหตุของการประทานอายะห์

กล่าวคืออายะฮฺอัลกุรอ่านจะมีสาเหตุการประทานลงมาตามแต่ละเหตุการณ์นั้น ๆ หรือแม้กระทั่งฮะดีษก็มีสาเหตุที่จะมีการประทานลงมาให้แก่ท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมเช่นกัน ซึ่งการประทานอายะฮฺอัลกุรอานหรือฮะดีษแต่ละครั้งนั้นมีสาเหตุเจาะจงในการประทาน

แต่ข้อชี้ขาดของตัวบทที่ถูกนำเอามาตัดสินชี้ขาดในแต่ละเหตุการณ์นั้น ๆ ข้อตัดสินของมันจะถูกใช้ตัดสินแค่เหตุการณ์นั้นเพียงเหตุการณ์เดียว ทว่าข้อตัดสินนั้นถือเป็นข้อตัดสินที่ครอบคลุมทั้งประชาชาติ เพราะอัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อเป็นบทบัญญัติแก่ทุกคนในอุมมะฮฺนี้ทั้งหมด ฉะนั้นแล้วสาระสำคัญอยู่ที่คำของอายะฮ์ไม่ใช่สาเหตุเจาะจงในการประทานอายะฮ์นั้นลงมา

ตัวอย่างเช่นอายะฮฺที่กล่าวถึงการตัดมือของหัวขโมย อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

وَالسَّارِقُ وَالسَّارِقَةُ فَاقْطَعُوا أَيْدِيَهُمَا جَزَاءً بِمَا كَسَبَا نَكَالًا مِنَ اللَّهِ وَاللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ

“และขโมยชายและขโมยหญิงนั้นจงตัดมือของเขา ทั้งสองคน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองนั้นได้แสวงหาไว้ (และ) เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างการลงโทษ จากอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์นั้นทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณ” [อัลมาอิดะฮ์ 38]

สาเหตุของการประทานอายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาในเหตุการณ์หัวขโมยที่พยายามจะขโมยเสื้อคลุมของท่านซอฟวาน บิน อุมัยยะฮฺ ซึ่งท่านซอฟวานได้ม้วนมันทำเป็นหมอนหนุนในขณะที่ท่านนอน ซึ่งหัวขโมยก็ไม่ได้ปฏิเสธความผิดแต่อย่างใด

ฉะนั้นท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้สั่งใช้ให้นำหัวขโมยคนนี้ไปตัดมือเสีย แต่ท่านซอฟวานก็กล่าวต่อท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ว่า ฉันไม่ได้ต้องการเช่นนี้ เสื้อคลุมของฉันถือว่าเป็นเซาะดะเกาะฮ์แก่เขาไป ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า ทำไมเจ้าไม่บอกสิ่งนี้แก่ฉันก่อนที่เจ้าจะนำชายคนนี้มา? [รายงานโดยอิบนุมาญะฮฺ ท่านชัยคฺอัลอัลบานีย์ให้สถานะเศาะฮีฮ เลขฮะดีษที่ 2595]

อายะฮฺข้างต้นถูกประทานลงมาในเหตุการณ์ของท่านซอฟวาน บินอุมัยยะฮฺในเรื่องของการตัดมือหัวขโมย ทว่าข้อติดสินเรื่องดังกล่าวนี้มิได้ใช้เฉพาะในกรณีของท่านซอฟวาน แต่ยังครอบคลุมถึงประชาชาติอิสลามทั้งหมด กล่าวคือใครก็ตามในประชาชาตินี้ที่ประพฤติขโมย ข้อลงโทษตามหลักชะรีอะฮฺอิสลามคือการตัดมือ

ดังนั้นการหยิบเรื่องประวัติศาสตร์หรือสาเหตุการประทานอายะฮ์ต่าง ๆ เพื่อมาสร้างความชอบธรรมในการละเว้นการปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าเป็นข้อตัดสินที่เกิดขึ้นเฉพาะเวลาและเหตุการณ์นั้น ๆ จึงถือเป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ ในเบื้องต้น

อัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด

อ้างอิง : อุซูลฟีตัฟซีร(ของเชคอุษัยมีน ร่อฮิมะฮุลลอฮ์)หน้า13-14