ตอบโต้ข้อกล่าวหาต่ออัลกุรอาน โดยอ้างว่าอัลกุรอานนั้นสับสนในเรื่องประวัติศาสตร์ของพระนางมัรยัม (แมรี มารดาของนบีอีซา -อะลัยฮิสลาม- )
โดยข้อกล่าวหาที่อ้างว่าอัลกุรอานสับสนในการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพระนางมัรยัมนั้น มีอยู่ 2 ที่ด้วยกัน
1.เขากล่าวว่าอัลกุรอานได้กล่าวว่ามัรยัมมีพี่หรือน้องชื่อ “ฮารูน” ซึ่งฮารูนนั้น แต่เดิมเป็นพี่น้องของนบีมูซา (โมเสส) และช่วงเวลาระหว่างพระนางมัรยัมกับนบีฮารูนและมูซานั้นห่างกันประมาณ 1500 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่มัรยัมจะเป็นพี่น้องกับฮารูนและมูซา โดยอ้างจาก อายะที่ 28-29 ซูเราะมัรยัม อัลลอฮฺตรัสว่า
فَأَتَتْ بِهِ قَوْمَهَا تَحْمِلُهُ قَالُوا يَا مَرْيَمُ لَقَدْ جِئْتِ شَيْئًا فَرِيًّا * يَا أُخْتَ هَارُونَ مَا كَانَ أَبُوكِ امْرَأَ سَوْءٍ وَمَا كَانَتْ أُمُّكِ بَغِيًّا
“และนางได้พาเขามายังหมู่ญาติของนางโดยอุ้มเขามา พวกเขากล่าวว่า โอ้ มัรยัมเอ๋ย แท้จริงเธอได้นำเรื่องประหลาดมาแล้ว โอ้น้องสาวของฮารูน พ่อของเธอมิได้เป็นชายชั่ว และแม่ของเธอก็มิได้เป็นหญิงไม่บริสุทธิ์”
2. อัลกุรอานกล่าวว่า พระนางมัรยัมนั้น มีพ่อชื่อ “อิมรอน” ซึ่งค้านกับคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวว่าพ่อของมัรยัมชื่อ “โจอาคิม” ในโองการอัตตะห์รีม อายะฮ์ที่
وَمَرْيَمَ ابْنَتَ عِمْرَانَ الَّتِي أَحْصَنَتْ فَرْجَهَا فَنَفَخْنَا فِيهِ مِن رُّوحِنَا وَصَدَّقَتْ بِكَلِمَاتِ رَبِّهَا وَكُتُبِهِ وَكَانَتْ مِنَ الْقَانِتِينَ
“และมัรยัมบุตรีของอิมรอน ผู้ซึ่งรักษาพรหมจารีของนาง แล้วเราได้เป่าวิญญาณของเราเข้าไปในนาง และนางได้ศรัทธาต่อบัญญัติต่างๆแห่งพระเจ้าของนาง และ (ได้ศรัทธาต่อ) คัมภีร์ต่างๆ ของพระองค์ และนางจึงอยู่ในหมู่ผู้นอบน้อมภักดีทั้งหลาย”
ผู้กล่าวหาได้กล่าวว่า คัมภีร์อัลกุรอาน เล่าเหตุการณ์มั่วและสับสนทางประวัติศาสตร์ โดยที่อัลกุรอานเล่าค้านกับไบเบิล
เกริ่นนำ
ก่อนจะเริ่มการตอบโต้ เราขอชี้แจงแนวทางการเขียน และเรียกบรรดาบุคคลที่เป็นประเด็นในเรื่องนี้ โดยเราจะใช้ชื่อที่ชาวมุสลิมเรียกเป็นหลัก และวงเล็บชื่อที่บุคคลนั้นถูกเรียก ณ กลุ่มชนอื่น ๆ เช่น มูซา (โมเสส) ลำดับถัดมา เนื่องจากข้อคลุมเครือนี้ผู้โจมตีอัลกุอรอานใช้ข้อมูลจากไบเบิลเป็นหลัก ทางเราจึงจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้อ่านทราบก่อนว่า ข้อมูลในไบเบิลที่ผู้โจมตีนำมาใช้นั้น กล่าวถึง เรื่อง “พระนางมัรยัม (แมรี) ” ไว้ว่าอย่างไร
ไบเบิลบอกว่า “พระนางมัรยัม (แมรี)” ที่เป็นแม่ของเยซูนั้น มีพ่อชื่อ “โจอาคิม” และไม่ได้ระบุว่ามัรยัม (แมรี) แม่ของเยซูมีพี่น้องใดๆ แต่ในไบเบิลก็ได้กล่าวถึงอีกครอบครัวหนึ่งที่ครอบครัวนั้น มีพ่อชื่ออัมราน (อิมรอน) มีลูก 3 คน ได้แก่ 1. มัรยัม (มิเรียม/แมรี) 2. ฮารูน (อาโรน) 2. มูซา (โมเสส)
ซึ่งตามข้อมูลของไบเบิล “มัรยัม” ที่เป็นแม่ของเยซู กับ “มัรยัม” ที่มีพ่อชื่ออิมรอน (อัมราน) คือ คนละคนกัน ซึ่งจุดนี้เองที่แตกต่างกับอัลกุรอานเพราะอัลกุรอานอ้างว่า “มัรยัม” ที่เป็นแม่ของเยซูนั้น คือ สมาชิกของครอบครัวที่มีพ่อชื่ออิมรอน และจุดนี้ชี้ให้เห็นว่าอัลกรุอานมีความสับสน โดยการเอาประวัติของคน 2 คนมารวมเข้าด้วยกัน โดยสรุปแล้วอัลกุรอานสับสน 3 เรื่องด้วยกัน
1. อัลกุรอานบอกว่าพระนางมัรยัมมีพี่หรือน้องชื่อฮารูน (แต่ในไบเบิลไม่ได้ระบุไว้)
2. อัลกุรอานอ้างว่าพ่อพระนางมัรยัมชื่ออิมรอน (แต่ในไบเบิลบอกว่าพ่อชื่อ “โจอาคิม”)
3. บุคคลที่อัลกุรอานกล่าวมานั้น ไม่ใช่พระนางมัรยัมที่เป็นแม่ของเยซู แต่มันกลับไปตรงกับเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ถูกกล่าวไว้ในไบเบิล โดยสมาชิกและสถานะทางครอบครัวทั้งหมดตรงกับสิ่งที่อัลกุรอานบอก
ดังนั้นจึงเป็นข้อชี้วัดว่าอัลกุรอานสับสนที่เอาประวัติของคนธรรมดาที่ชื่อ “แมรี” ที่ถูกกล่าวในไบเบิล ไปเคลมว่าคนคนนั้น คือ “แมรีที่เป็นแม่ของเยซู” ทั้งๆ ที่เป็นคนละคน
(ตามคำอ้างของผู้ใส่ร้าย)
ตอบโต้
เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้น และเป็นความอ่อนด้อยทางสติปัญญาเป็นอย่างมากในการยกข้อมูลมาโต้แย้งอัลกุรอานในครั้งนี้คือ “การที่คุณนำไบเบิลมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินอัลกุรอาน” เพราะในความจริงแล้ว การที่คุณบอกว่าอัลกุรอานผิด นั้นหมายถึงคุณมีข้อมูลที่ถูก (และนั้นคือไบเบิล) การกระทำเช่นนี้คือความไร้เดียสาในวิชาการเป็นอย่างมาก เพราะ
1. คุณหยิบไบเบิลมาตัดสินอัลกุรอานว่าผิดเพียงเพราะมันไม่ตรงกัน เช่นนั้นเราก็สามารถพูดได้เช่นกัน ว่าไบเบิลผิด เพราะกล่าวไม่ตรงกับอัลกุรอาน! นี่ไม่ใช่วิธีพิสูจน์สัจธรรมใดๆ เลย แต่ถ้าคุณกำลังจะอ้างว่า “ก็นี้ไง คือ วิธีการพิสูจน์ว่าอัลกุรอานนั้นจริงหรือเท็จ” เราก็จะขอตอบว่า “นี่ไม่ใช่วิธีพิสูจน์สัจธรรมที่แท้จริง!” เพราะ การที่อัลกุรอานกล่าวไม่ตรงกับไบเบิลมันไม่ได้หมายถึงอัลกุรอานผิด ไบเบิลถูก และมันก็ไม่ได้หมายถึงไบเบิลถูก อัลกุรอานผิด (ตามหลักตรรกะ)
สิ่งที่คุณควรพิสูจน์คือ มีความย้อนแย้งในตัวเองในเนื้อหาของอัลกุรอานหรือไม่ ที่กล่าวสวนทางกัน (กล่าวคือ ให้พิสูจน์ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในตัวมันเอง ไม่ใช่การนำบรรทัดฐานหนึ่งทั้ง ๆ ที่มาและความถูกต้องของมันนั้นก็ยังไม่ถูกรับรองมาตัดสิน) และแหล่งข้อมูลไหนที่มีความถูกต้องจริงๆ ต่างหาก
2. สำหรับมุสลิมนั้นสถานะของไบเบิล เราถือว่าไบเบิลในปัจจุบันคือคัมภีร์ที่ถูกบิดเบือนและเนื้อหาในคัมภีร์ปัจจุบันนั้น ที่มาที่ไปของมันก็ไม่ถูกยอมรับจากมุสลิม เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ว่าสิ่งที่เขียนในไบเบิลในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่มาจากพระเจ้า 100% เพราะในไบเบิลฉบับปัจจุบันนั้น มีหลายเนื้อหาที่ขัดแย้งกัน และแหล่งที่มาของมันนั้นก็ไม่ชัดเจน รวมไปถึงการสังคายนาที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน
ดังนั้นจุดยืนสำหรับมุสลิมเราคือ อะไรที่ไบเบิลปัจจุบันกล่าวตรงกับอัลกุรอาน เราก็จะถือว่าสิ่งนั้นถูกแต่หากสิ่งใดไม่ตรงเราก็จะถือว่าไบเบิลผิดและอัลกุรอานถูก ดังนั้นมันเป็นสิ่งที่ไร้สาระเป็นอย่างมากที่คุณจะนำข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่ไม่มีความถูกต้องในตัวมันเองมาตัดสินข้อมูลที่ถูกกล่าวไว้ในอีกที่หนึ่งเพียงเพราะมันกล่าวไม่เหมือนกัน
3. จากทั้งหมดที่กล่าวมา มันคงหนีไม่พ้นการที่คุณต้องพิสูจน์แหล่งข้อมูลของคุณว่ามันเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ 100% (และอะไรคือเกณฑ์หรือวิธีของคุณในการตัดสินว่าข้อมูลนั้นๆ เชื่อถือได้? และวิธีนั้นถูกต้องแค่ไหน?) แหล่งข้อมูลไหนที่สมควรถูกนิยามว่าเป็นสิ่งบริสุทธ์ที่มาจากพระเจ้าจริงๆ และแหล่งข้อมูลไหนที่ไม่มีการขัดแย้งในตัวเอง (เพราะมันเป็นหนึ่งในวิธีพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลนั้นได้ดี) ทั้งหมดทั้งมวลล้วนชื่อไปที่เรื่อง “การพิสูจน์คัมภีร์” อันเป็นคำแนะนำของเรา
ตอบโต้ข้อคลุมเครือที่ 1
เราจะขอตอบแบบสรุปก่อนว่า คำตอบของเรื่องนี้คือ “มัรยัมแม่ของอีซาไม่ได้เป็นพี่น้องของฮารูนที่เป็นพี่น้องของมูซา ส่วนคำว่า “ฮารูน” ที่ถูกกล่าวในอายะฮ์ที่ยกมาโจมตี ก็คือ คนที่เป็นพี่น้องของมัรยัมจริงๆ ที่ชื่อเหมือนกับฮารูนในยุคของนบีมูซา แค่นั้น
ลำดับแรกเราขอกล่าวว่า ประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคของท่านนบีมุฮัมมัด -ศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะซัลลัม- แล้ว โดยมีฮะดีษจากท่านมุฆีเราะ บิน ชัวะอ์บะ ที่บันทึกโดยอิมามมุสลิมว่า
عن المغيرة بن شعبة قال : لَمَّا قَدِمْتُ نَجْرَانَ سَأَلُونِي، فَقالوا: إنَّكُمْ تَقْرَؤُونَ يا أُخْتَ هَارُونَ، وَمُوسَى قَبْلَ عِيسَى بكَذَا وَكَذَا، فَلَمَّا قَدِمْتُ علَى رَسولِ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عليه وسلَّمَ سَأَلْتُهُ عن ذلكَ، فَقالَ: إنَّهُمْ كَانُوا يُسَمُّونَ بأَنْبِيَائِهِمْ وَالصَّالِحِينَ قَبْلَهُمْ.
จากท่านมุฆีเราะ บิน ชัวะอ์บะฮฺ กล่าวว่า คราที่ฉันได้ไปเมืองนัจรอน พวกเขา (ชาวคัมภีร์) ก็ถามฉัน โดยที่พวกเขากล่าวว่า “พวกคุณอ่านอัลกุรอานว่า โอ้น้องสาวของฮารูน แต่มูซามาก่อนอีซาด้วยกับจำนวนเวลาเท่านั้นเท่านี้” ดังนั้นเมื่อฉันได้กลับมาหาท่านเราะซูล -ศ็อลลัลลอฮุอะลัยวะซัลลัม- ฉันก็ได้ถามท่านถึงสิ่งนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “พวกเขาตั้งชื่อ (บรรดาลูกหลาน) ของพวกเขา ด้วยกับชื่อบรรดานบีของพวกเขา และบรรดาคนดีก่อนหน้าพวกเขา”
จากฮะดีษบทนี้เราสามารถตอบได้ว่า “มัรยัมน้องสาวของฮารูน” ที่ถูกกล่าวในอัลกุรอาน (ซึ่งเป็นอายะฮ์ที่โดนเอามาตั้งประเด็นในที่นี้) คนที่ชื่อ “ฮารูน” คนนี้ คือคนละคนกับ “ฮารูนที่เป็นพี่น้องของนบีมูซา” และฮารูนที่ถูกกล่าวในอายะฮ์นี้ แค่เป็นคนมีชื่อเหมือนกับฮารูนที่เป็นพี่ชายของนบีมูซาเท่านั้น และก็ไม่แปลกที่จะมีชื่อเหมือนกัน เพราะท่านนบีได้อธิบายไว้แล้วว่า “การตั้งชื่อลูกหลานตามบรรพบุรุษนั้น เป็นธรรมเนียมของคนสมัยนั้น” (ยุคของมูซากับฮารูน เกิดขึ้นก่อนยุคมัรยัม ดังนั้นมัรยัมที่เป็นแม่ของเยซูและคนอื่นๆ ถือเป็นลูกหลานของท่านทั้งสอง)
ดังนั้น สรุปได้ว่า “มัรยัมที่เป็นแม่ของเยซู” นั้นมีพี่น้องชื่อ “ฮารูน” จริงๆ แต่ฮารูนคนนี้ เป็นคนละคนกับ “ฮารูนที่เป็นพี่น้องของมูซา” มีแค่ชื่อเท่านั้นที่เหมือนกัน (จุดนี้เองเราอยากเสริมว่า เพียงแค่คุณเจอชื่อของบุคคลที่เหมือนกัน ในประวัติศาสตร์ที่ยุคสมัยแตกต่างกัน มันไม่ใช่เครื่องหมายบ่งชี้ว่าข้อมูลนั้นๆ ผิดแต่อย่างใด เพราะมันมีกรณีมากมายที่สามารถให้คำตอบกับปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ อย่างเช่น เรื่องธรรมเนียมการตั้งชื่อของคนแต่ละยุค และมันเป็นเรื่องเบาปัญญาที่คุณจะหยิบข้อมูลผิวๆ แค่นี้ขึ้นมา และมาโมเมว่าอัลกุรอานนั้นขัดแย้งกัน)
แน่นอนว่า ผู้กล่าวหา อาจจะกล่าวว่า มุฮัมมัดหาข้ออ้าง ฟังก็รู้เลยว่า พอโดนเศาะฮาบะฮ์ถาม ก็หาคำตอบเพื่อให้ตัวเองรอด เราขอตอบว่า ถ้าคุณกล่าวว่า คำพูดของมุฮัมมัดไม่ได้มีน้ำหนักเลย เราก็ขอถามกลับว่าแล้วคำพูดของคุณที่ว่า นบีมุฮัมมัดหาข้ออ้าง มีน้ำหนักตรงไหน?
และคำตอบที่เราตอบไปข้างต้นนั้น คุณอาจอ้างได้ว่านบีตอบเพื่อเอาตัวรอด แต่ความจริงแล้ว หลักฐานที่ยืนยันว่าอัลกุรอานไม่ได้สับสนในเรื่องดังกล่าว ไม่ได้มีแค่ฮะดีษของท่านนบีเท่านั้น แต่อีกสิ่งที่ยืนยันได้ คือ “การที่อัลกุรอานนั้น ไม่มีมีการกล่าวถึงพระนางมัรยัมในขณะที่เล่าประวัติฯของนบีมูซาและฮารูน และอัลกุรอานก็ไม่ได้มีการกล่าวถึง “มูซา, ฮารูน” ในขณะที่เล่าถึงเหตุการณ์ของ “พระนางมัรยัม”เช่นกัน
เพราะถ้าอัลกุรอานสับสนจริงๆ สถานะของมูซา (โมเสส), ฮารูน (อาโรน), มัรยัม (แมรี) ทั้ง 3 คนนี้จะเป็น พี่น้องกัน (เพราะมูซาคือพี่น้องของฮารูน และถ้าอัลกุรอานเคลมว่ามัรยัมเป็นพี่น้องของฮารูนแล้วนั้น มัรยัมก็ต้องเป็นพี่น้องกับมูซาด้วย)
ก่อนอื่นผมจะเกริ่นเรื่องราวที่อัลกุรอานเล่าถึงพระนางมัรยัม (แม่ของเยซู) และมูซา, ฮารูน
ในส่วนของมัรยัม
1. มัรยัมมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับนบีซาการียา ซึ่งนบีซาการียาเป็นผู้เลี้ยงดูมัรยัมตั้งแต่เด็กๆ เพราะพ่อแม่ของนางเสีย และนบีซาการียาก็ถูกกล่าวในอัลกุรอานด้วย
2.มัรยัม เป็นหญิงที่เคร่งครัดและทำอิบาดะฮ์อยู่ในสถานที่ส่วนตัว โดยแทบไม่ได้ออกไป
3.มัรยัมถูกกล่าวหาว่าทำซินา (ผิดประเวณี) เนื่องจากนางตั้งครรภ์ และโดนตำหนิประนามอย่างหนัก แต่อันที่จริงแล้วอัลลอฮฺประสงค์ให้นางตั้งครรภ์โดยไม่มีพ่อ
ในส่วนของฮารูนที่เป็นพี่ชายนบีมูซา
1. ฮารูนก็คือหนึ่งในชาวยิวในขณะนั้นที่อยู่ที่อียิปต์ที่ถูกฟิรอูนข่มเหง ซึ่งฮารูนก็อยู่กับมูซาตลอด
2. กลุ่มชาวยิวอพยพหนีไปที่ซีนาย
3. ชาวยิวถูกอัลลอฮฺลงโทษและอยู่ท่ามกลางทะเลทราย 40 ปี
ถ้าอัลกุรอานสับสนจริงๆ ถ้า 3 คนนี้เป็นพี่น้องกัน (ตามที่อัลกุรอานสับสนจากคำกล่าวหาของคุณ) ทำไมเมื่ออัลกุรอานเล่าเรื่องเกี่ยวกับมัรยัม กลับไม่มีกล่าวถึงพี่ชายคือมูซาและฮารูนไปด้วย และทำไมตอนที่อัลกุรอานเล่าเรื่องของมูซา, ฮารูน ทำไมถึงไม่ผูกเรื่องของมัรยัมเข้าด้วยกัน หรือทำไมไม่มีการระบุเรื่องนี้ตรงๆ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องสำคัญ?
ทำไมอัลกุรอานถึงเล่าว่ามัรยัมอยู่ในสถานที่ส่วนตัวในการทำอิบาดะฮ์อยู่อย่างสงบและไม่มีใครมารบกวน แต่กลับเล่าถึงกลุ่มชนของมูซาและฮารูนว่า ถูกเนรเทศไม่มีที่อยู่เป็นระยะเวลา 40 ปี?
ทำไมอัลกุรอานเล่าถึงกลุ่มของมูซาและฮารูนว่า ถูกฟิรอูน (ผู้นำอียิปต์ในยุคนั้น) กดขี่ข่มเหง แต่มัรยัมกลับอยู่ในสถานที่ทำอิบาดะฮ์อย่างสงบ?
ทำไมอัลกุรอานเล่าถึงมัรยัมตอนที่นางถูกกล่าวหาว่าทำซินา แต่ไม่มีพี่ชายสองคนมาช่วยเหลือ?
ทำไมอัลกุรอานเล่าถึงมูซากับฮารูน แต่ไม่กล่าวถึงซาการียะไปด้วย ทั้งๆ ที่ซาการียาก็เป็นญาติของมัรยัม?
ทำไมเมื่ออัลกุรอานกล่าวถึงมัรยัม หรืออีซา ทำไมอัลกุรอานไม่กล่าวด้วยว่า มูซาและฮารูนเป็นน้าชายของอีซา/เยซู?
ซึ่งการที่อัลกุรอานไม่ได้กล่าวถึงมัรยัมในเรื่องของมูซา, ฮารูน หรือกล่าวฮารูน, มูซา ในเรื่องของมัรยัม มันคือสิ่งที่ชี้ให้เห็นแล้วว่าอัลกุรอานไม่ได้สับสนใดๆ ถ้าผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวที่เราเขียนข้างต้น ผู้อ่านก็จะรู้ได้โดยทันทีว่า อายะอัลกุรอานที่ว่า “โอ้น้องสาวของฮารูน” (อายะนี้หมายถึงมัรยัม) นั้น อัลกุรอานไม่ได้หมายถึง “ฮารูน” ที่เป็นพี่ชายของนบีมูซา เพราะมิเช่นนั้นอัลกุรอานก็จะเล่าเรื่องปนกัน ระหว่างเรื่องของมัรยัมและเรื่องของมูซาตามสมมุติฐานที่เราตั้งไปแล้ว
และในอีกมุมหนึ่งของการโต้แย้ง หากเรามาดูตามคำภาษาอาหรับที่อัลกุรอานใช้ในการพูดถึงเรื่องนี้
ในอัลกุรอานที่ใช้คำว่า يا أخت هارون เราจะใช้คำแปลว่า “โอ้น้องสาวของฮารูน” คำว่า “น้องสาว” คือคำว่า أخت ซึ่งจะแปลว่าพี่สาวหรือน้องสาวก็ได้ อันที่จริงแล้วคำว่า พี่น้องผู้ชายหรือพี่น้องผู้หญิงในภาษาอาหรับ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงพี่น้องท้องเดียวกันอย่างเดียว แต่สามารถอธิบายอีกได้ว่าอาจจะหมายถึงไม่ใช่พี่น้องแท้ๆ อาจจะอยู่คนละยุคก็ได้ นี่คือเรื่องของสำนวนที่คนใช้พูดในแต่ละยุคสมัย
การใช้ศัพท์ของอัลกุรอานกันว่าถ้าอัลกุรอานใช้คำว่า “พี่น้อง” นั้นมันจะต้องหมายถึง พี่สาวน้องสาวแท้ๆ เลยหรือไม่
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
كُلَّمَا دَخَلَتْ أُمَّةٌ لَّعَنَتْ أُخْتَهَا ۖ
“ทุกครั้งที่มีกลุ่มชนหนึ่งเข้าไป (ในนรก) กลุ่นชนนั้นก็จะสาปแช่งพี่น้องของพวกเขา”
จากอายะนี้ เราจะเห็นว่า อัลกุรอานเรียก 2 กลุ่มชนว่า พี่น้องกัน ทั้งๆ ที่อยู่คนละยุคคนละสมัย โดยใช้คำว่า أخت ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่ใช้เรียกมัรยัมว่า “น้องสาวของฮารูน”
ดังนั้น คำว่า يا أخت هارون “โอ้น้องสาวของฮารูน” ตรงนี้ก็สามารถตีความได้ว่าไม่ใช่ “ฮารูน” ที่ถูกกล่าวถึงไม่ใช่พี่ชายแท้ๆ แต่อาจจะเป็นบรรพชนคนดีคนหนึ่ง ที่คนในชุมชนเดียวกับมัรยัม ที่ได้รับการยอมรับนับถือ และนี่คืออีกทัศนะหนึ่งของบรรดานักวิชาการมุสลิม เพราะท่านนบีบอกว่า พวกชาวคัมภีร์ (ยิวและคริสต์) จะตั้งชื่อลูกหลานของพวกเขาตามชื่อบรรดานบีของพวกเขา
สรุป คำตอบของข้อคลุมเครือนี้ คือ
1.“ฮารูน” ในอายะฮ์ที่ถูกยกมาอ้างนั้น คือ พี่น้องของมัรยัมจริงๆ แต่เป็นคนละคนกับฮารูนที่เป็นพี่น้องมูซา
2.“ฮารูน” ในอายะฮ์นี้ อาจไม่ใช่พี่น้องของมัรยัมจริงๆ แต่เป็นคนดีที่ได้รับการนับถือจากสังคมยุคนั้น ส่วนประเด็นที่ใช้คำว่า “มัรยัมเป็นพี่น้องของฮารูน” คือ หนึ่งในสำนวนที่คนยุคนั้นใช้กัน
ตอบโต้ข้อคลุมเครือที่ 2 ที่ว่า
“มัรยัมลูกสาวของอิมรอน” ซึ่งขัดกับไบเบิลที่บอกว่า มีพ่อชื่อ โจอาคิม
ประการแรก อันที่จริงแล้ว ในไบเบิลเองก็มีการเห็นต่างกันว่า พ่อจริงๆ ของมัรยัม ชื่อว่าอะไร
ประการที่สอง อันที่จริงแล้วต้นฉบับจริงๆ ของไบเบิลที่เป็นภาษาฮิบรู เป็นที่รู้กันทางประวัติศาสตร์ว่ามันหายไปแล้ว ดังนั้นต้นฉบับแท้ๆ จึงไม่มีอยู่
ประการที่สาม ไบเบิลในปัจจุบันนั้นถูกแปลมาจากภาษากรีก ซึ่งก็ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แปลไบเบิลเป็นภาษากรีก และเราก็ไม่แน่ใจว่า เขาแปลได้ถูกทุกตัวไหม หรือมีการแปลคลาดเคลื่อนหรือไม่? เพราะการแปลจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูงและถ้าคุณรับรอง อะไรคือวิธีพิสูจน์?
ประการที่สี่ ไบเบิลมีต้นฉบับทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 2000 ฉบับ ซึ่งฉบับที่เราอ่านกันอยู่ ก็เป็นฉบับที่โป๊ปเลือก และหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ว่ามันคือต้นฉบับที่ถูกต้อง โป๊ปอ้างว่าเลือกมาจากการดลใจของพระเจ้า
ประการที่ห้า ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษ ก็ถูกแปลมาหลายชั้น กล่าวคือ มีการแปลจากภาษาฮิบรูมาเป็นภาษากรีก และจากภาษากรีกมาเป็นภาษาละติน และแปลจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษอีกที ซึ่งมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงมาก
ประการที่ 6 ในไบเบิลก็มีการขัดแย้งกันเองอย่างมากมาย (ซึ่งเราจะไม่กล่าว ณ ที่นี้)
ทั้งหมดทั้งมวลที่เรากล่าวมา ถูกอธิบายไว้แล้วในข้อชี้แจงที่ 2 ในส่วนแรกของการเริ่มโต้ ดังนั้นจากข้อมูลที่เราได้ให้ไปแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่อัลกุรอานจะถูกตัดสินว่าผิดเพียงเพราะกล่าวไม่เหมือนกับไบเบิล
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า ในไบเบิล มีอะไรมากมายที่เราสมควรจะต้องสงสัยถึงความถูกต้องของไบเบิล คำถามของเราคือ เราจะนำสิ่งที่ไม่มีความชัดเจนในตัวมันเอง มาเป็นมาตราฐานความถูกต้องหรือ? และนำสิ่งนี้มาตัดสินว่าอัลกุรอานผิดใช่ไหม? แน่นอนว่าผู้สติปัญญาจะไม่ยอมรับสิ่งนี้แน่นอน
อีกประการในประเด็นนี้ มีนักวิชาการบางท่านก็ได้ให้ทัศนะไว้ว่า “มันเป็นไปได้ที่คนๆ หนึ่งจะถูกเรียกด้วยชื่อหนึ่งในภาษาหนึ่งและจะถูกเรียกด้วยอีกชื่อในอีกภาษา” ดังนั้น หากพ่อมัรยัมแม่ของเยซูจะถูกเรียกว่า “อิมรอน” ในภาษาอาหรับและจะถูกเรียกว่า “โจอาคิม” ในภาษาฮิบรู ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้วคุณจะพิสูจน์อย่างไรว่ากรณีนี้ มันใช้ไม่ได้กับเรื่องนี้?
จากข้อตอบโต้ 2 ข้อที่ผ่านมา หากท่านผู้อ่านเข้าใจมันจริงๆ แล้ว มันจะเป็นการปฏิเสธข้อคลุมเครือที่ 3 ที่ผู้ใส่ร้ายยกมาโดยอัตโนมัติ
เราตั้งประเด็นต่อว่า เป็นไปได้ไหม ที่ 2 ครอบครัวจะมีชื่อพ่อและลูกเหมือนกัน? ในไบเบิลจะมีบทหนึ่งที่เล่าถึงสกุลของชาวยิว หลังจากที่ชาวยิวได้อพยพเข้าสู่เยรูซาเล็มแล้ว กล่าวคือ มีการทำทะเบียนราษฎร์ ซึ่งปรากฎว่า ในทะเบียนราษฎร์นั้นก็มีหลายๆ ครอบครัวที่มีชื่อพ่อ และลูก เหมือนกับชื่ออีกครอบครัวหนึ่ง
และอันที่จริงแล้ว ชาวอาหรับ ก็มีการตั้งชื่อซ้ำเช่นกันในวัฒนธรรมของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น อิมามมะฮ์ดี ในความเชื่อของมุสลิม ท่านชื่อมุฮัมมัด และพ่อของท่านชื่ออับดุลลอฮ์ ซึ่งหมายความว่า อิมามมะฮ์ดี ชื่อเหมือนกับนบีมุฮัมมัด และมีพ่อชื่อเดียวกันด้วย
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร ที่มัรยัม และมูซา ที่อยู่คนละครอบครัวกัน จะมีพ่อและพี่ชายชื่อเดียวกัน และต่อให้เราไม่ยกวัฒนธรรมของชาวยิวและชาวอาหรับมาสนับสนุน เราก็รู้กันโดยสามัญสำนึกอยู่แล้วว่า ชื่อพ่อและชื่อลูกของทั้ง 2 ครอบครัวก็มีโอกาสซ้ำกันได้ และการกล่าวหาที่ว่า มัรยัม และมูซา จะมีชื่อพ่อและพี่ชายซ้ำกันได้อย่างไร? ก็เป็นการกล่าวหาที่พิสูจน์อะไรไม่ได้เลยว่ามันผิดและนี่ก็เป็นอีกข้อสมมุติฐานของเราที่ให้ผู้อ่านคิด