ตอบโต้ : เอทิสต์โชว์เขลาวิจารณ์อัลกุรอานเรื่องการถือศีลอดในสถานที่ซึ่งดวงอาทิตย์ไม่ตก (ตอนที่ 3-จบ)

ด้วยพระนามของอัลเลาะฮ์ผู้ทรงกรุณาปราณีผู้ทรงเมตตาเสมอ (بسم الله الرحمن الرحيم)

บทความนี้เป็นบทความในการตอบโต้ชุบฮาตหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเอทิสต์ที่วิจารณ์อัลกุรอานโดยไม่มีความรู้ โดยเขาได้วิจารณ์ว่า

  • อัลกุรอานสั่งใช้ให้ถือศีลอดตั้งแต่รุ่งอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน คำถามคือแล้วคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ดวงอาทิตย์ไม่ตกดินเลย เขาจะทำอย่างไร?
  • ถ้าทำตามอัลกุรอานจริง ๆ มุสลิมจะต้องอดตายแน่นอน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไปยึดผู้รู้ในการให้คำชี้แนะเหนือคำสั่งพระเจ้า ก็เท่ากับมุสลิมยกผู้รู้เป็นพระเจ้าในเชิงปฏิบัติ
  • คำสั่งนี้ออกมาได้อย่างไร? มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ประพันธ์อัลกุรอานไม่มีความรู้ในเรื่องภูมิศาสตร์
  • คนที่ออกมาแก้คำสั่งศาสนาก็คือผู้รู้ แถมยังมีความเห็นที่ต่างกันอีก บ้างว่าให้ยึดเวลาของพื้นที่ใกล้เคียง บ้างว่าให้ยึดเวลาตามซาอุ

โดยประเด็นดังกล่าวถูกยกขึ้นมาจากอายะฮ์กรุ่อานที่ว่า

وَكُلُوا وَاشْرَبُوا حَتَّى يَتَبَيَّنَ لَكُمُ الْخَيْطُ الأَبْيَضُ مِنَ الْخَيْطِ الأَسْوَدِ مِنَ الْفَجْرِ ثُمَّ أَتِمُّوا الصِّيَامَ إِلَى اللَّيْلِ

และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้า จากเส้นดำ เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ(อัลฟัจร์) แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ  (ซูเราะหฺอัลบะกอเราะหฺ – ๑๘๗)


ตอบโต้ (ตอนจบ)


ประเด็นที่ 4 ในต้นบทความผู้เขียนได้สรุปประเด็นว่าเอทิสต์คนนั้นได้พูดอะไรบ้าง หนึ่งในประเด็นที่ผู้เขียนจะตอบเอทิสต์ในข้อนี้ก็คือคำถามที่ว่า ผู้รู้บางคนบอกว่าให้ยึดเวลาในพื้นที่ใกล้เคียง บางคนก็บอกว่ายึดตามซาอุ ตกลงมันยังไงกัน?

เราขอตอบว่า มุสลิมทั่วไปที่ไม่ร่ำเรียนศาสนาเขายังรู้ว่าความเห็นต่างของบรรดานักวิชาการมันสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ตราบใดที่การวินิฉัยนั้นไม่ได้ค้านกับตัวบทชัดเจน หรือตราบใดที่การวินิฉัยนั้นไม่ค้านกับมติเอกฉันท์ของนักวิชาการทั้งหมดที่เคยมีมา ซึ่งการวินิฉัยตัวบทที่นำมาสู่ความเห็นต่างนั้น เป็นสิ่งที่ท่านนบีมูฮัมหมัด (ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวเอาไว้แล้ว ว่ามันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ท่านบอกว่าคนที่วินิฉัยผิดได้หนึ่งเท่า ส่วนคนที่วินิฉัยถูกได้ผลบุญสองเท่า ดังนั้นเราจึงถือว่าอิสลามได้บอกเอาไว้แล้วว่า เรื่องความเห็นต่างของบรรดานักวิชาการหลังจากการวินิฉัยตัวบทแล้ว มันสามารถเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ

และ ณ ที่นี้ผู้เขียนก็จะอธิบายว่าทำไมผู้รู้เขาถึงเห็นต่างกันในเรื่องนี้

ผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วว่า ตราบใดที่การวินิฉัยของบรรดานักวิชาการไม่ได้ค้านตัวบทชัดเจน สิ่งนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งที่รับได้ ไม่ว่าจะเป็นทัศนะไหนของบรรดานักวิชาการก็ตาม

คำถามก็คือ แล้วนักวิชาการเขาวินิฉัยจากตัวบทไหนล่ะ เขาถึงได้มีความเห็นที่ต่างกัน?

คำตอบคือ ฮะดีษที่ท่านนบีได้พูดคุยกับศอฮาบะฮ์เกี่ยวกับเรื่องดัญญาล ที่เราได้ยกไปแล้วในข้อที่ 3 โดยท่านได้กล่าวว่า

“พวกท่านจงกำหนดมันตามช่วงเวลาของวันหนึ่ง”

คำพูดของท่านนบีมีแค่นี้ ดังนั้นสิ่งที่เราได้รับจากฮะดีษนี้คือเราต้องกำหนดเวลาเองตามที่มันเหมาะสม ดังนั้นนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจึงบอกว่า ที่เหมาะสมที่สุดคือ ให้เลือกเอาเวลาพื้นที่ใกล้เคียงที่การขึ้นและการตกของดวงอาทิตย์ยังเป็นปกติอยู่เป็นมาตรฐาน เพราะการเลือกพื้นที่ที่ไกล มันน่าจะไม่ปลอดภัยมากกว่า สิ่งที่ใกล้เคียงกับความถูกต้องมากกว่าก็คือพื้นที่ใกล้เคียง

ส่วนอีกทัศนะหนึ่งของบรรดานักวิชาการบอกว่าให้ยึดเอาเวลาที่มักกะฮ์เป็นมาตรฐาน ทั้งนี้เนื่องจากอายะฮ์อัลกุรอานที่ว่า

وَكَذَٰلِكَ أَوْحَيْنَا إِلَيْكَ قُرْآنًا عَرَبِيًّا لِتُنْذِرَ أُمَّ الْقُرَىٰ وَمَنْ حَوْلَهَا

และเช่นนั้นแหละ เราได้วะฮียฺอัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับแก่เจ้า เพื่อเจ้าจะได้ตักเตือนอุมมุลกุรอ (ชาวมักกะฮฺ) และผู้ที่อยู่รอบเมืองนั้น (ซูเราะหฺอัชชูรอ – ๗)

เนื่องจากอายะฮ์นี้ได้กล่าวให้ท่านนบีมูฮัมหมัดทำการเตือนผู้ที่อยู่มักกะฮ์ และคำหลังจากคำว่า มักกะฮ์ ก็คือผู้ที่อยู่รอบเมืองนั้น ดังนั้นจากหลักฐานอายะฮ์นี้ บ่งชี้ว่าเมืองมักกะฮ์ถือว่าเป็นแกนหลัก ดังนั้นนักวิชาการส่วนหนึ่งจึงมีทัศนะให้ยึดตามเวลาของเมืองมักกะฮ์

เราจะเห็นได้จาก 2 ทัศนะของบรรดานักวิชาการ พวกเขาไม่ได้วินิฉัยอะไรที่มันหลุดออกจากตัวบท ซึ่งทั้งสองทัศนะก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้

เพียงแต่ว่าพวกเขามีความเห็นที่แตกต่างกันว่า ทัศนะไหนมีน้ำหนักมากกว่ากันเท่านั้นเอง

ประเด็นที่ 5  การที่นักวิชาการเห็นตรงกันทั้งหมด ถือว่าสิ่งนั้นเป็นบัญญัติศาสนา และการเห็นตรงกันของพวกท่านเหล่านี้ ก็เป็นไปไม่ได้เด็ดขาดในการที่พวกท่านจะวินิฉัยค้านกับตัวบทหลักฐาน มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในการที่บรรดานักวิชาการจะวินิฉัยปัญหาหนึ่ง โดยที่พวกท่านจะเห็นตรงกันในการวินิฉัยที่ค้านกับตัวบทหลักฐาน(ทางศัพท์วิชาการเรียกว่า “อิจมาอ์”) และมุสลิมเราก็ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของท่านรอซูลอยู่แล้ว โดยที่ท่านรอซูล (ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า

عَنْ ابْنِ عُمَرَ رضي الله عنهما ، أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : ( إِنَّ اللَّهَ لَا يَجْمَعُ أُمَّتِي عَلَى ضَلَالَةٍ )

وصححه الألباني في “صحيح الترمذي”

ความว่า: จาดท่านอิบนุอุมัร (ร่อดิยัลลออันฮุมา) กล่าวว่า แท้จริงท่านร่อซูล(ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่รวมประชาชาติของฉันในเรื่องที่หลงผิด”

อัลอัลบานีย์ให้สถานะว่าศอฮีฮ์ ในหนังสือ ศอฮีย์อัตติมีซีย์

อันที่จริงแล้วตัวบทหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวว่าให้ยึดตามมติเอกฉันท์ของบรรดานักวิชาการมีอีกมากมายเหลือเกิน แต่ฮะดีษบทนี้บทเดียวก็เพียงพอแล้วในการอธิบายเรื่องนี้

ประเด็นที่เราจะกล่าวในข้อนี้ก็คือ เราจะเห็นว่าไม่มีนักวิชาการมุสลิมคนใดเลยในโลกนี้ ที่บอกให้ถือศีลอดตลอด ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ตกดิน ให้ถือศีลอดตลอดแม้ชีวิตจะหาไม่ก็ตาม ไม่มีนักวิชาการคนใดสักคนที่กล่าวเช่นนี้ ดังนั้นพวกท่านทั้งหมดจึงเห็นตรงกันว่า หากดวงอาทิตย์ไม่ตกดินเลยตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ก็ให้ยึดเวลาของพื้นที่อื่นในการถือศีลอด

ข้อสรุปจากประเด็นที่ 5 นี้ก็คือ ท้ายที่สุดแล้วเราก็ปฏิบัติตัวบทหลักฐานที่บอกว่าให้ตามมติเอกฉันท์ของบรรดานักวิชาการ และนี่คืออีกหนึ่งความสมบูรณ์ของหลักการศาสนา

ประเด็นที่ 6 ข้อนี้จะตอบคำถามของคนบ้องตื้นที่บอกว่า  “คำสั่งแบบนี้ออกมาได้ไง พระเจ้าไม่รู้หรือถึงออกคำสั่งนี้มา ถ้ารู้จักทำไมไม่บอกละ ว่าถ้าพื้นที่นี้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ถ้าเป็นพื้นที่อีกแบบก็ทำอีกแบบ ถ้ารู้ทำไมไม่เขียนเรื่องนี้ สุดท้ายคือเพราะพระเจ้าไม่รุ้ใช่ไหม สรุปคือคนประพันธ์ไม่มีความรู้เรื่องภูมิศาสตร์”

ก่อนที่จะตอบคำถามข้อนี้ ผู้เขียนขอย้ำก่อนว่าเราได้อธิบายวิธีการวินิฉัยของบรรดานักวิชาการไปแล้ว ผู้อ่านคงเห็นถึงความละเอียดถี่ถ้วนในการวินิฉัยหลักฐานของพวกเขาแล้วใช่ไหมครับ

ต่อมาเราจะมาตอบคำถามที่บ้องตื้นนี้กันครับ

1.”คำสั่งนี้ออกมาได้ไง”

ตอบ คำสั่งนี้ก็ไม่ได้มีอะไรนะครับ และเราได้อธิบายการเข้าใจตัวบทที่ถูกต้องไปแล้ว

2.”ถ้ารู้จักทำไมไม่บอกละ ว่าถ้าพื้นที่นี้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ถ้าเป็นพื้นที่อีกแบบก็ทำอีกแบบ ถ้ารู้ทำไมไม่เขียนเรื่องนี้ แสดงว่าไม่มีความรู้เรื่องภูมิศาสตร์”

ตอบ หนึ่ง อัลกุรอานไม่ได้ถูกประทานลงมาเพื่อที่จะพูดเรื่องภูมิศาสตร์นะครับ อัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำให้แก่ผู้ศรัทธา พูดถึงหลักความเชื่อ และหลักการปฏิบัติให้แก่มุสลิมเป็นหลัก

สอง ถ้าคุณถามว่าทำไมไม่บอกให้ละเอียดว่าพื้นที่นั้นนี้ต้องทำอย่างไง เราขอตอบว่า ถ้ากุรอานต้องบอกทุกอย่าง ให้รายละเอียดทั้งหมดในทุก ๆ เรื่อง ถ้าเป็นเช่นนั้น กุรอานก็คงยาวเป็นสิบ ๆ เล่ม เราต่อให้กุรอานพูดเรื่องภาคปฏิบัติอย่างเดียว แต่ต้องบอกทุก ๆ อย่างตามที่คุณพูด สิ่งที่เราคาดการณ์ได้คือ อัลกุรอานคงยาวเป็นสิบ ๆ เล่ม(แค่เฉพาะเรื่องการปฏิบัติ) สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครเขาทำกันหรอก และมันบ่งชี้ว่าพระเจ้าไม่มีความปรีชาญาณด้วย

เราลองมาพิจารณาดูว่า การที่พระเจ้าประทานอัลกุรอานเล่มเดียว พร้อมกับวางระบบการวินิฉัยปัญหาศาสนาต่าง ๆ มาในเล่มนั้น โดยที่ข้อมูลทั้งหมดกระทัดรัดและครอบคลุม สิ่งนี้นับเป็นความปรีชาญาณมากกว่าหรือน้อยกว่า ถ้าเทียบกับการที่พระองค์จะบอกทุกอย่าง และคัมภีร์นั้นก็คือยาวเป็นร้อย ๆ เล่ม?

สาม “การที่พระเจ้าไม่ได้บอกเอาไว้ ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าไม่รู้” และอีกอย่างพระเจ้าไม่ได้ประทานคัมภีร์มาเพื่ออธิบายถึงภูมิศาสตร์

ผู้เขียนจะยกตัวอย่างบางตัวอย่างของคำพูดที่ว่า “การที่พระเจ้าไม่ได้บอกเอาไว้ ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าไม่รู้” เช่น คงไม่มีใครพูดว่าพระเจ้าไม่รู้จักคนที่แขนด้วน แน่นอนว่าพระเจ้ารู้ แต่พระเจ้าก็สั่งใช้ให้อาบน้ำละหมาดโดยทำการล้างแขนด้วย และพระองค์ก็ไม่ได้บอกว่าคนแขนด้วนต้องอาบน้ำละหมาดอย่างไร แน่นอนว่าพระเจ้าได้วางระบบการวินิฉัยปัญหาศาสนามาในอัลกุรอานแล้ว ทางออกมันมีแน่นอน และคงไม่มีใครกล่าวว่าพระเจ้าไม่รู้จักคนแขนด้วนเนื่องจากพระองค์ไม่ได้กล่าวถึงคนแขนด้วนไว้ ดังนั้นฉันใดก็ฉันนั้น การที่พระเจ้าไม่ได้กล่าวถึงการที่ดวงอาทิตย์อยู่ค้างฟ้า 24 ชั่วโมงในบางพื้นที่ ก็ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ไม่รู้จัก มิหน้ำซ้ำเรายังเห็นความรอบรู้ของพระองค์ที่ความเข้าใจตัวบทหลักฐานมันเป็นไปอย่างสอดคล้องกับชีวิตของคนในทุก ๆ พื้นที่ โดยที่พระองค์ไม่ต้องกล่าวถึงพื้นที่ต่างๆเลย

ท้ายที่สุดนี้ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า หลักการศาสนาของอัลลอฮ์มันสมบูรณ์อย่างไร ไม่จำเป็นต้องมีการดัดแปลงหลักฐานให้เข้ากับพื้นที่ หรือยุคสมัย และคงได้เห็นความปราดเปรื่องของบรรดานักวิชาการที่อัลลอฮ์ทรงให้กับพวกเขาเพื่อที่จะรักษาศาสนาของพระองค์

มวลการสรรเสริญทั้งเป็นของอัลลอฮ์ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก