ตอบโต้ : เอทิสต์โชว์เขลาวิจารณ์อัลกุรอานเรื่องการถือศีลอดในสถานที่ซึ่งดวงอาทิตย์ไม่ตก (ตอนที่ 2)

ด้วยพระนามของอัลเลาะฮ์ผู้ทรงกรุณาปราณีผู้ทรงเมตตาเสมอ (بسم الله الرحمن الرحيم)

บทความนี้เป็นบทความในการตอบโต้ชุบฮาตหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเอทิสต์ที่วิจารณ์อัลกุรอานโดยไม่มีความรู้ โดยเขาได้วิจารณ์ว่า

  • อัลกุรอานสั่งใช้ให้ถือศีลอดตั้งแต่รุ่งอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน คำถามคือแล้วคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ดวงอาทิตย์ไม่ตกดินเลย เขาจะทำอย่างไร?
  • ถ้าทำตามอัลกุรอานจริง ๆ มุสลิมจะต้องอดตายแน่นอน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไปยึดผู้รู้ในการให้คำชี้แนะเหนือคำสั่งพระเจ้า ก็เท่ากับมุสลิมยกผู้รู้เป็นพระเจ้าในเชิงปฏิบัติ
  • คำสั่งนี้ออกมาได้อย่างไร? มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ประพันธ์อัลกุรอานไม่มีความรู้ในเรื่องภูมิศาสตร์
  • คนที่ออกมาแก้คำสั่งศาสนาก็คือผู้รู้ แถมยังมีความเห็นที่ต่างกันอีก บ้างว่าให้ยึดเวลาของพื้นที่ใกล้เคียง บ้างว่าให้ยึดเวลาตามซาอุ

โดยประเด็นดังกล่าวถูกยกขึ้นมาจากอายะฮ์กรุ่อานที่ว่า

وَكُلُوا وَاشْرَبُوا حَتَّى يَتَبَيَّنَ لَكُمُ الْخَيْطُ الأَبْيَضُ مِنَ الْخَيْطِ الأَسْوَدِ مِنَ الْفَجْرِ ثُمَّ أَتِمُّوا الصِّيَامَ إِلَى اللَّيْلِ

และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้า จากเส้นดำ เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ(อัลฟัจร์) แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ  (ซูเราะหฺอัลบะกอเราะหฺ – ๑๘๗)


ตอบโต้ (ตอนที่ 2)


2. ประเด็นต่อมา เราได้แจกแจงในข้อที่หนึ่งไปแล้วว่า พื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่ดวงอาทิตย์ไม่ตกดิน ถือว่าพื้นที่นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับอายะฮ์อัลกุรอานที่กล่าวเกี่ยวกับเวลาของการถือศีลอด

แต่ข้อที่สองนี้ผู้เขียนต้องการอธิบายถึงกฎเกณฑ์บางข้อในการวินิฉัยปัญหาศาสนาตามระบบอิสลาม ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนสงสารในสติปัญญาของเอทิสต์คนนั้น จึงอยากจะชี้แจงเพื่อให้เอทิสต์คนนั้นมีความฉลาดมากขึ้น และเพื่อที่การตอบโต้จะได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

เอทิสต์คนนั้นได้กล่าวไว้ในวีดีโอบางคลิปว่า “ถ้าเชื่อพระเจ้าก็จะต้องอดตาย” ผู้เขียนขอตอบว่า หนูเอ๋ยเรียนรู้อิสลามก่อนนะ แล้วค่อยมาวิจารณ์

เป็นที่ทราบกันในระบบการวินิฉัยปัญหาศาสนาว่า

“ไม่อนุญาตเด็ดขาดไม่ว่าใครก็ตามที่เขาจะทำการสักการะต่ออัลลอฮ์ หากการสักการะนั้นนำมาสู่ความเจ็บปวดหรือการล้มตาย”

การอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์จะต้องไม่นำหน้าการรักษาชีวิตเป็นอันขาด ถ้ามีคำถามว่า คุณเอาหลักการข้อนี้มาจากไหน? ผู้เขียนขอตอบว่า หลักฐานมันเยอะมากจนกระทั่งผู้เขียนเลือกไม่ถูกเลยว่าจะเอาตัวอย่างไหนมาอธิบายดี แต่ ณ ที่นี้ผู้เขียนก็จะเลือกบางตัวอย่างเท่านั้นมาอธิบายว่า หลักการของอัลลอฮ์ไม่ยอมเด็ดขาดในการที่ชีวิตต้องพังทลายด้วยกับการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์

หลักฐานที่ 1 อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَأَنفِقُوا فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَلَا تُلْقُوا بِأَيْدِيكُمْ إِلَى التَّهْلُكَةِ ۛ وَأَحْسِنُوا ۛ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ

และพวกเจ้าจงบริจาคในทางของอัลลอฮ์และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้าสู่ความพินาศ และจงทำดีเถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงชอบผู้กระทำดีทั้งหลาย (ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ – ๑๙๕)

ตัวอย่างหลักฐานที่ 2 ถ้าว่าจะเสียชีวิตแล้ว ไม่มีอะไรให้ทานนอกจากหมู ก็อนุญาตให้รับประทานหมูได้ อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

إِنَّمَا حَرَّمَ عَلَيْكُمُ الْمَيْتَةَ وَالدَّمَ وَلَحْمَ الْخِنزِيرِ وَمَا أُهِلَّ بِهِ لِغَيْرِ اللَّهِ ۖ فَمَنِ اضْطُرَّ غَيْرَ بَاغٍ وَلَا عَادٍ فَلَا إِثْمَ عَلَيْهِ ۚ إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَّحِيمٌ

ที่จริงที่พระองค์ทรงห้ามพวกเจ้านั้นเพียงแต่สัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกเปล่งเสียงที่มันเพื่ออื่นจากอัลลอฮ์ แล้วผู้ใดได้รับความคับขัน โดยมิใช่ผู้เสาะแสวงหา และมิใช่เป็นผู้ละเมิดขอบเขตแล้วไซร้ ก็ไม่มีบาปใด ๆ แก่เขา แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเมตตาเสมอ (ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ – ๑๗๓)

ตัวอย่างหลักฐานที่ 3 ไม่ต้องถือศีลอดหากว่าป่วยในช่วงเวลานั้น แต่ให้ไปถือศีลอดใช้ในช่วงเวลาที่ไม่ป่วย หรือเช่นเดียวกันถ้าเดินทางก็ไม่จำเป็นต้องถือศีลอด

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ ۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ ۖ وَمَن كَانَ مَرِيضًا أَوْ عَلَىٰ سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ ۗ يُرِيدُ اللَّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلَا يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ وَلِتُكْمِلُوا الْعِدَّةَ وَلِتُكَبِّرُوا اللَّهَ عَلَىٰ مَا هَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُونَ

เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้าและเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วน ซึ่งจำนวนวัน (ของเดือนรอมฏอน) และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ (ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ – ๑๘๕)

ไม่ต้องพูดถึงเลย ถ้าหากการถือศีลอดทำให้คน ๆ หนึ่งต้องเสียชีวิต แน่นอนว่าศาสนาห้ามเรื่องนี้ อันที่จริงแล้ว ถ้าจะให้ผู้เขียนหาหลักฐานเกี่ยวกับการที่ศาสนาห้ามอิบาดะฮ์จนกระทั่งตัวตายมาสักสิบถึงยี่สิบหลักฐานก็ทำได้ แต่ไม่เราไม่ต้องการให้บทความยืดเยื้อเกินไปโดยใช่เหตุ

3. ประเด็นต่อมา สิ่งที่เราได้อธิบายมาข้านต้น ผู้อ่านก็คงเห็นความลงตัวในการวินิฉัยของบรรดานักวิชาการ และความลงตัวของตัวบทหลักฐาน และเช่นเดียวกันในสิ่งที่จะกล่าวต่อ ผู้อ่านก็จะเห็นถึงความลงตัวในการวินิฉัยอีก และในประเด็นถัด ๆ ไป ผู้อ่านก็จะได้เห็นความลงตัวในการวินิฉัยอีกเช่นกัน จนกระทั่งการอธิบายหลักฐานของเราจะสมบูรณ์ในท้ายที่สุด

อาจจะมีคำถามสืบเนื่องมาจากประเด็นที่ 1 ว่า เมื่อพื้นที่ที่ดวงอาทิตย์ตกดินเป็นระยะเวลาสั้น ๆหรือไม่ตกดินเลย พื้นนั้น ๆ ไม่ได้สอดคล้องกับดำรัสของอัลลอฮ์ คำถามคือแล้วเราต้องทำอย่างไรต่อ?

คำตอบก็คือ เราได้ย้อนกลับไปดูตัวบทหลักฐานที่มาจากซุนนะฮ์ ปรากฎว่าเราพบว่า ท่านนบีมูฮัมหมัด (ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ให้ทางออกกับการเกิดปรากฎการณ์ในลักษณะนี้เอาไว้แล้ว (อัลฮัมดุลิลลาฮ์)

มีรายงานจากท่านเนาวาซ บิน ซัมอาน อัลอันศอรีย์ (รอดิยัลลอฮุอันฮุ) ที่ถูกบันทึกในหนังสือศอฮีห์มุสลิม บรรดาศอฮาบะฮ์กำลังพูดคุยกับท่านนบีถึงเรื่องของดัจญาล ซึ่งในช่วงเวลานั้นท่านนบีได้บอกว่า จะมีวันหนึ่งที่ยาวถึง 1 ปี

قُلْنَا: يا رَسُولَ اللهِ، وَما لَبْثُهُ في الأرْضِ؟ قالَ: أَرْبَعُونَ يَوْمًا، يَوْمٌ كَسَنَةٍ، وَيَوْمٌ كَشَهْرٍ، وَيَوْمٌ كَجُمُعَةٍ، وَسَائِرُ أَيَّامِهِ كَأَيَّامِكُمْ قُلْنَا: يا رَسُولَ اللهِ، فَذلكَ اليَوْمُ الذي كَسَنَةٍ، أَتَكْفِينَا فيه صَلَاةُ يَومٍ؟ قالَ: لَا، اقْدُرُوا له قَدْرَهُ،

พวกเรา (บรรดาศอฮาบะฮ์) กล่าวว่า “โอ้ท่านรอซูลของอัลลอฮ์ ดัจญาลจะอาศัยอยู่ในแผ่นดินกี่ปีครับ?”

ท่านตอบว่า “40 วัน โดยที่จะมี ๅ วันที่ยาวเท่ากับ 1 ปี และอีก 1 วันจะยาวเท่ากับ 1 เดือน และอีก 1 วันจะยาวเท่ากับ 1 ศุกร์(หมายถึง 1 สัปดาห์) และวันที่เหลือก็จะยาวเท่ากับวันต่างๆของพวกท่านนั่นแหละ”

พวกเรา (บรรดาศอฮาบะฮ์) จึงกล่าวว่า “โอ้ท่านรอซูลของอัลลอฮ์ วันที่ยาวหนึ่งปี การละหมาดเพียงวันเดียวจะเพียงพอกับพวกเราไหมครับ?”

ท่านตอบว่า “ไม่, พวกท่านจงกำหนดมันตามช่วงเวลาของวันหนึ่ง”

จากฮะดีษบทนี้ศอฮาบะฮ์ถามถึงเรื่องเวลาละหมาด ในช่วงเวลาที่สภาพวันเวลามันไม่เป็นไปตามปกติ ไม่สามารถหาเวลามาตรฐานตามปกติที่ศาสนาได้กำหนดไว้ นั่นก็คือการดูเวลาละหมาดตามดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นการดูเงาดวงอาทิตย์ หรือดูดวงอาทิตย์ตกดิน หรือดูแสงของดวงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางคืน เมื่อปรากฎว่า 1 วันยาวเท่ากับ 1 ปี แสดงว่าดวงอาทิตย์จะไม่ตกดินเลย สิ่งที่ท่านนบีสั่งใช้คือให้คำนวณเวลาที่เหมาะสมกับวัน ๆ หนึ่งเอาเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีนาฬิกาที่บอกเวลาได้ชัดเจนแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์ตามที่ท่านนบีบอก ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไรในการที่เราจะทำตามสิ่งที่ท่านนบีสั่ง

แน่นอนว่าเรื่องที่บรรดาศอฮาบะฮ์ถาม พวกท่านถามเกี่ยวกับเรื่องละหมาด แต่พวกท่านไม่ได้ถามถึงเรื่องการถือศีลอด แต่ทว่าเรื่องนี้ก็เป็นที่รับรู้ได้ว่า ถ้าท่านถูกถามเรื่องการถือศีลอดท่านก็จะตอบว่าให้ทำการกำหนดเวลาที่เหมาะสมของมันเอง ซึ่งเราสามารถคาดการณ์ได้ว่า ที่บรรดาศอฮาบะฮ์ไม่ได้ถามเรื่องถือศีลอด เพราะการที่ท่านนบีตอบคำถามว่า ให้กำหนดเวลาการละหมาดเอง มันก็นำมาสู่ความเข้าใจว่า เมื่อเวลาของกลางวันและกลางคืนมันไม่เป็นไปตามปกติ พวกท่านทั้งหลายก็จงกำหนดเวลาการถือศีลอดที่เหมาะสมกับเวลาของมันกันเอง

และเช่นเดียวกัน ในเรื่องซะกาต ศอฮาบะฮ์ก็ไม่ได้ถามต่อว่า ปีนั้นทั้งปี เราไม่ต้องออกซะกาตใช่ไหม? ทั้งนี้เนื่องจากคำพูดของท่านนบีมันเป็นที่เข้าใจได้

จากย่อหน้าข้างต้นเป็นการอธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ว่า ศอฮาบะฮ์ไม่ต้องถามต่อ เขาก็รู้ว่าถ้าดวงอาทิตย์ไม่ตกดินตามปกติหรือไม่ปรากฎเวลากลางคืน เขาจะต้องกำหนดเวลาของเขาเอง แต่อีกมุมหนึ่งที่เราจะอธิบายคือ หลักการวินิฉัยที่เรียกว่า อัลกิยาส (القياس) หมายถึง หลักการเทียบ หลักการกิยาสนี้จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อไม่มีตัวบทหลักฐานมาระบุไว้อย่างชัดเจนในสถานการณ์ต่าง ๆ

หลักการเทียบนี้ (อัลกิยาส) เราก็ไม่ได้คิดเอง แต่ทว่าอัลกุรอานและท่านนบีมูฮัมหมัด (ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นผู้สอนเรา ว่าเมื่อไม่มีหลักฐานที่ตรงไปตรงมาในสถานการณ์หนึ่งก็ให้ทำการเทียบกับอีกหลักฐานหนึ่ง

ซึ่งหลักการ อัลกิยาส (القياس) นี้ ผู้เขียนเชื่อว่าแม้กระทั่งชาวบ้านมุสลิมทั่วไปที่ไม่ได้ร่ำเรียนศาสนา หลาย ๆ คนก็รู้จักหลักการ อัลกิยาส (القياس) แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเอทิสต์ผู้โฉดเขลาคนนั้น รู้จักหลักการนี้ไหม

แต่ ณ ที่นี้ผู้เขียนคงจะไม่ยกหลักฐานการกิยาส ที่มาจากอัลกุรอานและอัซซุนนะฮ์นะครับ เพราะถ้าเขียนหลักฐานต่าง ๆ และอธิบายวิธีการของ “อัลกิยาส” อีก มันจะทำให้บทความนี้ยืดเยื้อไปอีก

แต่ผู้เขียนจะอธิบายการเทียบคร่าว ๆ ในเรื่องนี้ คือ อิลละ(ตัวถูกเทียบ) ในที่นี้ก็คือ “เมื่อเวลาไม่เป็นไปตามปกติหรือดวงอาทิตย์ขึ้นลงไม่ปกติ” กล่าวคือเมื่อเวลาไม่เป็นไปตามปกติ ท่านนบีก็สั่งใช้ให้กำหนดเวลาการละหมาดเอง

และเช่นเดียวกัน เมื่อเวลาไม่เป็นไปตามปกติ ก็ให้กำหนดเวลาการถือศีลอดเอง (ขอย้ำอีกทีว่าหลักการเทียบแบบนี้ท่านนบีได้สอนเอาไว้อย่างชัดเจน แต่บทความนี้ไม่เหมาะสมที่จะอธิบายหลักการวินิฉัยอิสลามในข้อนี้)

.

.

โปรดติดตามตอนต่อไป