ตอบโต้ : เอทิสต์โชว์เขลาวิจารณ์อัลกุรอานเรื่องการถือศีลอดในสถานที่ซึ่งดวงอาทิตย์ไม่ตก (ตอนที่ 1)

ด้วยพระนามของอัลเลาะฮ์ผู้ทรงกรุณาปราณีผู้ทรงเมตตาเสมอ (بسم الله الرحمن الرحيم)

บทความนี้เป็นบทความในการตอบโต้ชุบฮาตหนึ่งที่เกิดขึ้นจากเอทิสต์ที่วิจารณ์อัลกุรอานโดยไม่มีความรู้ โดยเขาได้วิจารณ์ว่า

  • อัลกุรอานสั่งใช้ให้ถือศีลอดตั้งแต่รุ่งอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน คำถามคือแล้วคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ดวงอาทิตย์ไม่ตกดินเลย เขาจะทำอย่างไร?
  • ถ้าทำตามอัลกุรอานจริง ๆ มุสลิมจะต้องอดตายแน่นอน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไปยึดผู้รู้ในการให้คำชี้แนะเหนือคำสั่งพระเจ้า ก็เท่ากับมุสลิมยกผู้รู้เป็นพระเจ้าในเชิงปฏิบัติ
  • คำสั่งนี้ออกมาได้อย่างไร? มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ประพันธ์อัลกุรอานไม่มีความรู้ในเรื่องภูมิศาสตร์
  • คนที่ออกมาแก้คำสั่งศาสนาก็คือผู้รู้ แถมยังมีความเห็นที่ต่างกันอีก บ้างว่าให้ยึดเวลาของพื้นที่ใกล้เคียง บ้างว่าให้ยึดเวลาตามซาอุ

โดยประเด็นดังกล่าวถูกยกขึ้นมาจากอายะฮ์กรุ่อานที่ว่า

وَكُلُوا وَاشْرَبُوا حَتَّى يَتَبَيَّنَ لَكُمُ الْخَيْطُ الأَبْيَضُ مِنَ الْخَيْطِ الأَسْوَدِ مِنَ الْفَجْرِ ثُمَّ أَتِمُّوا الصِّيَامَ إِلَى اللَّيْلِ

และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้า จากเส้นดำ เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ(อัลฟัจร์) แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ  (ซูเราะหฺอัลบะกอเราะหฺ – ๑๘๗)


ตอบโต้ (ตอนที่ 1)


ประการแรก เราต้องทำความเข้าใจคือคำว่า “อัลฟัจร์ประจักษ์ชัด” ในอัลกุรอาน

แน่นอนว่าคำพูดที่ออกมาจากปากของเอทิสต์ ถ้าเขารับข้อมูลจากการชี้แจงนี้ เขาจะรู้ว่าเขานั้นไม่ได้มีความรู้อะไรเลย เราขอเริ่มจากอายะฮ์อัลกุรอานที่กล่าวถึงช่วงเวลาของการถือศีลอด อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสในซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์อายะฮ์ที่ 187 ว่า

وَكُلُوا وَاشْرَبُوا حَتَّى يَتَبَيَّنَ لَكُمُ الْخَيْطُ الأَبْيَضُ مِنَ الْخَيْطِ الأَسْوَدِ مِنَ الْفَجْرِ ثُمَّ أَتِمُّوا الصِّيَامَ إِلَى اللَّيْلِ

และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้า จากเส้นดำ เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ(อัลฟัจร์) แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ  (ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ – ๑๘๗)

ณ ที่นี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าที่กุรอานใช้คำว่า “เส้นขาวประจักษ์จากเส้นดำ” ไม่ได้หมายถึงเอาด้ายไปแขวนไว้สักที่หนึ่ง และหากเราเห็นด้ายเป็นสีขาวเมื่อไร ก็ให้หยุดรับประทาน ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แต่ความเข้าใจที่ถูกต้องคือ คำว่า “เส้นขาวประจักษ์ชัดจากเส้นดำ” สำนวนนี้เป็นที่รู้กันในภาษาอาหรับว่า มันหมายถึง เมื่อแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์) ขึ้น ก็ให้หยุดรับประทานอาหาร ซึ่งความเข้าใจนี้ก็สอดคล้องกับความเข้าใจของคนอาหรับในยุคนั้นในมุมของภาษาอาหรับ และเป็นสิ่งที่ท่านนบีมูฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้อธิบายไว้ด้วย โดยมีปรากฎทั้งในหนังสือ ศอเฮียฮ์บุคคอรีย์และมุสลิม ที่มีการเล่าเรื่องมาจาก ซะฮล์ บิน ซะอด์ (سهل بن سعد) และอะดีย์ บิน ฮาติม (عدي بن حاتم) ซึ่งถูกรายงานมาทั้งสองฮะดีษเลย

การอธิบายว่า เส้นสีขาวและสีดำ คือ การปรากฎของแสงรุ่งอรุณ(อัลฟัจร์) ไม่ใช่ประเด็นที่เอทิสต์มาวิจารณ์อัลกุรอาน แต่ที่ผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องนี้ เนื่องจากมันเป็นบันไดไปสู่ความเข้าใจอัลกุรอานในโองการนี้

และก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง ผู้เขียนขออธิบายคำว่า “แสงรุ่งอรุณ(อัลฟัจร์)” ก่อนนะครับ แสงรุ่งอรุณ(อัลฟัจร์)ตรงนี้หมายถึง แสงของดวงอาทิตย์ที่ปรากฎก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น เป็นแสงที่ทำให้ความมืดมิดของกลางคืนหมดไป จากการคำนวณในปัจจุบันดวงอาทิตย์จะอยู่ในระดับ 18 องศา ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น แสงนี้(อัลฟัจร์)ก็จะเริ่มปรากฎ ซึ่งตามชื่อเรียกที่ถูกต้องเรียกว่า “แสงสนธยาดาราศาสตร์”

และเช่นเดียวกันในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกดิน หากดวงอาทิตย์อยู่ในระดับ 18 องศา หลังจากดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ก็จะทำให้ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงของดวงอาทิตย์ และเข้าสู่เวลาละหมาดอีชา ซึ่งแสงสุดท้ายหลังจากดวงอาทิตย์ตกดินถูกเรียกว่า “แสงสนธยาดาราศาสตร์” เป็นชื่อเรียกเดียวกันกับแสงแรกก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น

เมื่อเราเข้าใจคำว่า แสงสนธยาดาราศาสตร์(อัลฟัจร์)แล้ว ลำดับต่อไปที่เราจะอธิบายคือ แสงที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอาน (อัลฟัจร์) คือแสงอะไร? ในอัลกุรอานแปลไทยของสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย แปลโองการอัลกุรอานนี้ว่า

“จนกระทั่งเส้นขาวประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นดำเนื่องจากแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์)”

ตรงนี้เราได้อธิบายไปแล้วว่าเส้นขาวและเส้นดำ เป็นการเล่นสำนวนอาหรับที่คนอาหรับรู้กันอยู่แล้วว่ามันหมายถึง แสงแรกที่ปรากฎก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งมันถูกแปลว่า แสงรุ่งอรุณ และผู้เขียนมาอธิบายอีกทีว่า มันหมายถึง “แสงสนธยาดาราศาสตร์”

เราขอเปลี่ยนสำนวนคำแปลของสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก โดยเราจะแปลว่า

“จนกระทั่งแสงรุ่งอรุณหรือแสงสนธยาดาราศาสตร์ (อัลฟัจร์) ประจักษ์ชัดแก่พวกเจ้า”

ข้อสังเกตจากความหมายอายะฮ์นี้ คือคำว่า “ประจักษ์ชัดแก่พวกเจ้า” นั้นหมายความว่า หากว่าแสงรุ่งอรุณหรือแสงสนธยาดาราศาสตร์(อัลฟัจร์)ไม่ประจักษ์ชัดแก่บุคคลที่อยู่ในพื้นที่ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง แสดงว่าพื้นที่นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับโองการอัลกุรอานที่ถูกยกมา และบุคคลที่อยู่ในพื้นที่บริเวณดวงอาทิตย์ขึ้นตลอด 24 ชั่งโมง ก็ไม่ได้ถูกสั่งใช้ให้ถือศีลอดตามช่วงเวลาที่อัลกุรอานได้ระบุเอาไว้ เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์) ไม่ปรากฎในพื้นที่นั้น กล่าวคือมันต้องมีความมืดก่อน หลังจากนั้นจึงมีการเฝ้าดูแสงสนธยาดาราศาสตร์ (อัลฟัจร) หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็จะถือว่าสอดคล้องกับโองการในอัลกุรอาน

อีกความเข้าใจหนึ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือ การที่แสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์)จะประจักษ์ชัดได้นั้น มันไม่ได้หมายถึง ถ้าดวงอาทิตย์ตกเมื่อไร แสดงว่าต้องมีแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์) แน่ ๆ

อันที่จริงแล้ว หากดวงอาทิตย์ตกในระยะเวลาที่สั้นมาก ๆ เช่นครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่งโมง หลังจากนั้นมันก็ขึ้นใหม่ การตกในระยะเวลาสั้น ๆ นี้ จะทำให้แสงรุ่งอรุ่ณหรือแสงสนธยาดาราศาสตร์ (อัลฟัจร์) ไม่ประจักษ์ตามปกติที่อัลกุรอานได้ระบุไว้ (หมายถึงไม่มีการเฝ้าดูว่า เมื่อไรแสงสนธยาดาราศาสตร์จะขึ้น ที่ไม่ต้องมีการเฝ้าดูก็เนื่องจากแสงสนธยามันค้างฟ้าอยู่แล้ว)

และเช่นเดียวกันในช่วงเย็น หลังจากช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกดินแล้ว แสงหลังจากที่ดวงอาทิตย์ตกดินจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงแสงสนธยาดาราศาสตร์ มันจะต้องเกิดขึ้นก่อน หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ปราศจากแสงของดวงอาทิตย์ ช่วงเวลากลางคืนที่มืดสนิทที่ปราศจากจากแสงของดวงอาทิตย์ และหลังจากนั้นช่วงเวลาถัดมาก็คือแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์) ก็จะปรากฎขึ้น ดังนั้นถ้าดวงอาทิตย์ตกในระยะเวลาที่สั้นเกินไป แสงสนธยาก็จะไม่เลือนหายไปไหนจากท้องฟ้า และมันจะไม่เกิดช่วงเวลาที่ท้องฟ้าปราศจากแสงของดวงอาทิตย์ มันก็จะทำให้แสงสนธยาคงอยู่ตลอด และจะไม่มีการดูแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์) ตามที่กุรอานได้ระบุไว้ และไม่มีช่วงเวลาของกลางคืน

ดังนั้นพื้นที่ที่แสงรุ่งอรุณไม่ปรากฎ ถึงแม้ดวงอาทิตย์จะตกดินในระยะเวลาที่สั้นก็ตาม ก็ถือว่าพื้นที่นั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโองการของอัลกุรอานที่ผู้เขียนได้ยกมา และคนที่อยู่พื้นที่นั้น ๆ ก็ไม่ได้ถูกสั่งใช้ให้ถือศีลอดตามช่วงเวลาที่อัลกุรอานได้สั่งไว้ เนื่องจากคำสั่งอัลกุรอานไม่ได้เกี่ยวข้องกับพวกเขาตั้งแต่แรก

ผู้เขียนจะสรุปอีกทีดังนี้ หากไม่เกิดปรากฎการณ์ 3 ปรากฎการณ์ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็ถือว่าในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ใช่พื้นที่ที่อัลกุรอานได้กล่าวถึง และไม่ได้มีคำสั่งให้ถือศีลอดตามเวลาที่อัลกุรอานระบุไว้ เพราะพื้นที่นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับโองการอัลกุรอานตั้งแต่แรก และเพราะว่าแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์) ก็ไม่ได้ปรากฎตามที่อัลกุรอานได้ระบุไว้ ดังนั้นพื้นที่ต่าง ๆ จะต้องเกิด 3 ปรากฎการณ์ดังต่อไปนี้

  1. แสงหลังจากดวงอาทิตย์ตกดินจนกระทั่งแสงนั้นหมดไป(เข้าสู่แสงสนธยาดาราศาสตร์)
  2. หลังจากช่วงเวลาของแสงสนธยาหมดไป ก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่ไม่มีแสงของดวงอาทิตย์มายุ่งเกี่ยว ท้องฟ้าก็จะมืดสนิทโดยปราศจากแสงของดวงอาทิตย์
  3. เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาที่มืดมิดปราศจากแสงของดวงอาทิตย์แล้ว หลังจากนั้นแสงรุ่งอรุณหรือแสงสนธยาดาราศาสตร์(อัลฟัจร์) ก็ปรากฎขึ้น

ถ้าพื้นที่ไหนที่ 3 ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้น ก็เท่ากับว่าพื้นที่นั้นจะต้องถือศีลอดตามเวลาที่อัลกุรอานได้ระบุไว้ และถ้าพื้นที่ไหนที่ 3 ปรากฎการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นก็เท่ากับพื้นนั้นไม่สอดคล้องกับเวลาที่อัลกุรอานได้ระบุไว้ เพราะความหมายที่อัลกุรอานได้ระบุไว้คือ “จนกระทั่งแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์) ประจักษ์ชัด” ดังนั้นตามความเข้าใจของประโยคนี้ มันต้องเกิดช่วงเวลาที่มืดสนิทโดยปราศจากแสงของดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นจึงมีการเฝ้ารอให้แสงรุ่งอรุณหรือแสงสนธยาดาราศาสตร์(อัลฟัจร์)ประจักษ์ชัด ถ้าแสงสนธยาค้างฟ้าอยู่แล้ว ก็จะไม่สอดคล้องกับอัลกุรอานที่บอกว่า

“จนกระทั่งแสงรุ่งอรุณ (อัลฟัจร์) ประจักษ์ชัด”

ดังนั้นประการแรกที่เอทิสต์ผู้ด้อยปัญญาต้องเข้าใจก่อนเลยก็คือ อะไรคือความเข้าใจที่ถูกต้องของโองการอัลกุรอาน ไม่ใช่สักแต่จะหยิบคำแปลโดยปราศจากความเข้าใจ

.

โปรดติดตามตอนต่อไป